สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ภริยารับมรดกแทนที่สามี ได้หรือไม่

ตามกฎหมายให้สิทธิในการรับมรดกแทนที่เฉพาะผู้สืบสันดานเท่านั้น โดยผู้สืบสันดานหมายถึง ลูก หลาน เป็นต้น ที่จะมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดามารดาได้ ถ้าไม่มีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2539
ส. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับก. ส. มีภริยาคือโจทก์ที่1และมีบุตร3คนคือร. โจทก์ที่2และที่3หลังจากส. ถึงแก่ความตายแล้วร. ทำหนังสือสละมรดกของส. ต่อมาก. เสียชีวิตโจทก์ที่1เป็นเพียงภริยาของส.มิใช่ผู้สืบสันดานของส. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ส.เพราะการรับมรดกแทนที่กันจะมีได้เฉพาะผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1639และ1642ส่วนร. แม้จะสละมรดกของส. แล้วแต่ก็ไม่ปรากฏว่าร. สละสิทธิในการรับมรดกของก. อันเป็นการรับมรดกแทนที่ส. แต่อย่างใดร.โจทก์ที่2และที่3จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ส. ในการสืบมรดกของก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1645คนละหนึ่งในสาม โจทก์ทั้งสามมีชื่อโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับมรดกเฉพาะส่วนของส. อยู่แล้วเป็นเพียงแต่ยังไม่มีชื่อโจทก์ที่2และที่3ในส่วนที่เป็นมรดกของก. เท่านั้นแต่ก็มีชื่อจำเลยที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกของก. เท่ากับว่าโจทก์ที่2และที่3ชนะคดีบางส่วนจำเลยทั้งห้าจึงไม่สมควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

                โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายกิติศักดิ์ บุญศิริ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนายพิภพ บุญศิริ ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 194 เนื้อที่ประมาณ 66 ไร่ เดิมมีนายจำนง บุญศิริและนายสุคนธ์ บุญศิริ ถือสิทธิครอบครองกันคนละครึ่งครั้นนายจำนงถึงแก่กรรม นายสุคนธ์ นายกิติศักดิ์ นายพิภพจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายจำนงได้เข้ารับมรดกที่ดินส่วนของนายจำนงโดยถือสิทธิครอบครองที่ดินร่วมกันตลอดมาและได้ขอออกโฉนดที่ดินเป็น 3 แปลง แปลงแรกเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ แปลงที่สองเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ และแปลงที่สามเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ ต่อมานายสุคนธ์ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสุคนธ์ย่อมได้รับมรดกที่ดินส่วนของนายสุคนธ์สำหรับที่ดินแปลงที่สามคิดเป็นเนื้อที่คนละประมาณ 6 ไร่ หลังจากนั้นนายกิติศักดิ์ได้ถึงแก่กรรมอีก โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินส่วนของนายกิติศักดิ์สำหรับที่ดินแปลงที่สาม อันเป็นการรับมรดกแทนที่นายสุคนธ์ คิดเป็นเนื้อที่คนละ 79 เศษ 3 ส่วน 4ตารางวา รวมแล้วโจทก์ทั้งสามมีสิทธิในที่ดินแปลงที่สามคิดเป็นเนื้อที่คนละ 7 ไร่ 71 เศษ 3 ส่วน 4 ตารางวา โจทก์ทั้งสามแจ้งให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนบรรยายส่วนและรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนบรรยายส่วนและทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 12626 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง โดยให้โจทก์ทั้งสามมีส่วนในที่ดินคิดเป็นเนื้อที่คนละ7 ไร่ 71 เศษ 3 ส่วน 4 ตารางวา หากจำเลยทั้งห้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินของนายกิติศักดิ์และแทนนายสุคนธ์ฟ้องโจทก์ทั้งสามยังเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามเกี่ยวข้องและมีสิทธิอย่างไรในที่ดินส่วนที่เป็นของนายสุคนธ์และนายกิติศักดิ์ นอกจากนี้โจทก์ทั้งสามยังไม่เคยแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนบรรยายส่วนและรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทอีกด้วย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโฉนดที่ดินพิพาทออกมาเกิน 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรวมกันทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า นายจำนงแจ้งการครอบครองที่ดินแทนน้องทุกคน นายสุคนธ์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียง 1ใน 6 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา ซึ่งตกเป็นมรดกแก่โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทนายสุคนธ์นอกจากนี้โจทก์ที่ 2และที่ 3 ยังมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของนายกิติศักดิ์แทนที่นายสุคนธ์อีก 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่อีก 1 ไร่ 78 ตารางวาพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนบรรยายส่วนและทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 12626 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง ให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนได้ในที่ดินคิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่3 งาน 97 ตารางวา โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีส่วนได้ในที่ดินคิดเป็นเนื้อที่คนละ 2 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา หากจำเลยทั้งห้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนและหากตกลงแบ่งแยกที่ดินกันไม่ได้ให้เอาที่ดินออกขายแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ทั้งสามตามส่วน

โจทก์ ทั้ง สาม อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ ทั้ง สาม ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายพงษ์และนางสัมฤทธิ์เป็นสามีภรรยากัน ซื้อที่ดินมือเปล่า 1 แปลงเนื้อที่ 66 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เมื่อซื้อที่ดินดังกล่าวมาแล้วได้ให้นางหมู ศิริคช เช่า นายพงษ์และนางสัมฤทธิ์มีบุตรคนเดียวคือนางหิน นางหินสมรสกับนายอำพันธ์ มีบุตร 8 คน คือ นายจำนง นางน้ำค้าง นายสุคนธ์นายจำเนียรจำเลยที่ 5 นางสาวดาราจำเลยที่ 4 นายพิภพนางสาวดาวเรืองจำเลยที่ 2 และนายกิติศักดิ์ นายพงษ์ นายอำพันธ์และนางน้ำค้างถึงแก่กรรมก่อนนางสัมฤทธิ์ นางสัมฤทธิ์ถึงแก่กรรมปี 2494 นางหินเก็บค่าเช่าที่ดินดังกล่าวสืบต่อมาปี 2498 นายจำนงแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยระบุว่าครอบครองร่วมกับนายสุคนธ์ ตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2500 นายจำนงถึงแก่กรรมโดยไม่มีภรรยาและบุตร ผู้มีสิทธิรับมรดกของนายจำนงมี 7 คน คือ นางหิน นายสุคนธ์ จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 4นายพิภพ จำเลยที่ 2 และนายกิติศักดิ์ แต่นางหินสละมรดกเป็นหนังสือตามสำเนาหนังสือการสละมรดกเอกสารหมาย ล.33 ต่อมาปี 2515 นายสุคนธ์ จำเลยที่ 5 นายภิภพ จำเลยที่ 2 และนายกิติศักดิ์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ไปขอออกโฉนดที่ดิน วันที่23 สิงหาคม 2515 จำเลยที่ 4 ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน (ตกค้าง)ตามสำเนาเอกสารหมาย ล.29 วันที่ 6 กรกฎาคม 2516 นายสุคนธ์ยื่นคำขอคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน โดยอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองครึ่งหนึ่งตามสำเนาเอกสารหมาย ล.26 วันที่ 13 ธันวาคม 2516นางหินถึงแก่กรรม ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2518 นายสุคนธ์ขอยกเลิกการคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน โดยระบุว่า เพราะได้รับคำชี้แจงจากเจ้าพนักงานที่ดินว่า มีสิทธิในที่ดินครึ่งหนึ่งและเมื่อได้รับโฉนดแล้วจะได้จดทะเบียนบรรยายส่วนต่อไป ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.28 วันที่ 16 ตุลาคม 2518 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้เป็น 3 ฉบับ คือ โฉนดเลขที่ 12624, 12625 และ12626 โฉนดที่ดินทั้ง 3 ฉบับ มีชื่อนายสุคนธ์ จำเลยที่ 5จำเลยที่ 4 นายพิภพ จำเลยที่ 2 และนายกิติศักดิ์เป็นเจ้าของโดยมิได้ระบุว่ามีส่วนคนละเท่าใด จำเลยที่ 2 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดไว้ ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2519 นายพิภพถึงแก่กรรมมีทายาทโดยธรรม 3 คน คือ นายธีรภัทร บุญศิริ จำเลยที่ 3 และนางสาวพรนภิศ บุญศิริ จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนายพิภพต่อมานายสุคนธ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2523 มีทายาทโดยธรรม 4 คน คือ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยา โจทก์ที่ 2 ที่ 3และนายสุรพันธ์ บุญศิริ ซึ่งเป็นบุตร

แต่นายสุรพันธ์สละมรดกเป็นหนังสือตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.8 โจทก์ทั้งสามรับมรดกของนายสุคนธ์ โดยจดทะเบียนรับโอนที่ดินเฉพาะส่วนของนายสุคนธ์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 12624 วันที่ 27 มกราคม 2524ที่ดินโฉนดเลขที่ 12625 และ 12626 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 ในปี2524 นั้นเองมีการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12624 เป็นเงินประมาณ4,264,750 บาท โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 980,000 บาทต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2530 นายกิติศักดิ์ถึงแก่กรรม โดยไม่มีภรรยาและบุตรจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ที่ดินโฉนดเลขที่ 12625ถูกเวรคืนเพื่อทำถนนที่ดินโฉนดเลขที่ 12626 อันเป็นที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 35 ไร่ 3 งาน 54 เศษ 7 ส่วน 10 ตารางวา มีนายต๋องบุตรของนางหมูเช่าทำนาตลอดมา คดีมีปัญหาประการแรกว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของนายกิติศักดิ์แทนนายสุคนธ์หรือไม่เพียงใด เห็นว่าการรับมรดกแทนที่กันจะมิได้เฉพาะผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 และ 1642 โจทก์ที่ 1เป็นภรรยาของนายสุคนธ์มิใช่ผู้สืบสันดานของนายสุคนธ์จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสุคนธ์ ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 รับมรดกของนายกิติศักดิ์แทนที่นายสุคนธ์โดยได้รับส่วนแบ่งคนละครึ่งหนึ่งก็ไม่ถูกต้อง เพราะนายสุคนธ์มีบุตร 3 คน คือ นายสุรพันธ์ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 นายสุรพันธ์สละมรดกของนายสุคนธ์เท่านั้นตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.8 ไม่ปรากฏว่านายสุรพันธ์สละสิทธิในการรับมรดกของนายกิติศักดิ์อันเป็นการรับมรดกแทนที่นายสุคนธ์แต่อย่างใดดังนี้ นายสุรพันธ์จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสุคนธ์ในการสืบมรดกของนายกิติศักดิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1645 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสุคนธ์ในการสืบมรดกของนายกิติศักดิ์คนละหนึ่งในสามเท่านั้น และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คดีมีปัญหาต่อไปว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนแบ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 1626 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทเพียงใด โจทก์ทั้งสามนำสืบว่านายจำนงและนายสุคนธ์ได้ที่ดินทั้งแปลงเมื่อปี 2496 โดยพินัยกรรมตามที่ระบุไว้ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)จำเลยทั้งห้านำสืบว่า นายพงษ์และนางสัมฤทธิ์ซื้อที่ดินทั้งแปลงโดยเจตนายกให้หลานเมื่อนายพงษ์และนายสัมฤทธิ์ถึงแก่กรรม นางหินผู้เป็นบุตรคนเดียวของนายพงษ์และนางสัมฤทธิ์ให้นายจำนงไปแจ้งการครอบครองแทนน้องทุกคน แต่นายจำนงไปแจ้งว่าได้ครอบครองที่ดินร่วมกับนายสุคนธ์เพียง 2 คน นางสัมฤทธิ์อ่านและเขียนหนังสือไม่เป็นไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีพินัยกรรมมาแสดงทั้งยังไม่เคยเห็นพินัยกรรมอีกด้วย นายพงษ์ถึงแก่กรรมก่อนนางสัมฤทธิ์ นางสัมฤทธิ์ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2494ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ล.5 ดังนี้ที่ระบุในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ว่า ได้มาตามพินัยกรรมตั้งแต่ปี 2496 จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อ ทั้งโจทก์ที่ 1 เบิกความเจือสมพยานจำเลยทั้งห้าว่านางหินเป็นคนเก็บค่าเช่ามาใช้จ่ายรวมทั้งเสียภาษีด้วยหลังจากนางหินถึงแก่กรรม จำเลยที่ 4 เป็นผู้ดูแลและเสียภาษีและยังได้ความจากนางสุ่น วงศ์มหา ว่า นางหมูมารดาของนางสุ่นเช่าที่ดินจากนางสัมฤทธิ์ หลังจากนางหมูทำนาไม่ไหว นางสุ่นและพี่ ๆ เช่าต่อเมื่อนางสัมฤทธิ์ถึงแก่กรรม นางสุ่นและพี่ ๆเช่านาจากนางหิน นอกจากนั้นเมื่อทางราชการออกโฉนดที่ดินให้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2518 โดยระบุชื่อ นายสุคนธ์ จำเลยที่ 5จำเลยที่ 4 นายพิภพ จำเลยที่ 2 และนายกิติศักดิ์ โดยไม่ได้ระบุส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ นายสุคนธ์ก็มิได้ไปขอให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขแต่อย่างใดจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี 2523ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่ดินทั้งแปลงเป็นของนางสัมฤทธิ์นางสัมฤทธิ์ซื้อโดยเจตนายกให้หลาน เมื่อนางสัมฤทธิ์ถึงแก่กรรมนางหินให้นายจำนงแจ้งการครอบครองแทนน้อง ๆ เมื่อนายจำนงถึงแก่กรรมและนางหินสละมรดก ที่ดินทั้งแปลงจึงเป็นของนายสุคนธ์ จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 4 นายพิภพ จำเลยที่ 2และนายกิติศักดิ์รวม 6 คน ต่อมานายสุคนธ์ถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งสามรับมรดกของนายสุคนธ์คนละหนึ่งในสามและเมื่อนายกิติศักดิ์ถึงแก่กรรม มรดกของนายกิติศักดิ์ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมโดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วน โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และนายสุรพันธ์รวมกันได้รับ 1 ส่วน อันเป็นการรับมรดกแทนที่นายสุคนธ์ผู้เป็นบิดา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1626 มีเนื้อที่ 35 ไร่ 3 งาน 54 เศษ 7ส่วน 10 ตารางวา คิดเป็นจำนวนเต็ม 90 ส่วน แบ่งออกเป็น 6 ส่วนแต่ละส่วนเป็น 15 ส่วนใน 90 ส่วน โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกของนายสุคนธ์คนละ 5 ส่วนใน 90 ส่วน โจทก์ที่ 2 และที่ 3มีสิทธิได้มรดกของนายกิติศักดิ์อีกคนละ 1 ส่วนใน 90 ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงมีสิทธิได้คนละ 6 ส่วนใน 90 ส่วน

คดีมีปัญหาประการสุดท้ายตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่าจำเลยทั้งห้าควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับมรดกเฉพาะส่วนของนายสุคนธ์อยู่แล้ว เป็นเพียงแต่ยังไม่มีชื่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่เป็นมรดกของนายกิติศักดิ์เท่านั้นแต่ก็มีชื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกิติศักดิ์เท่ากับว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชนะคดีบางส่วนเท่านั้น จำเลยทั้งห้าจึงไม่สมควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนบรรยายส่วนและรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12626 ตำบลเชิงเนินอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้โจทก์ที่ 1 ได้จำนวน 5 ส่วนใน 90 ส่วน ให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้คนละ 6 ส่วน ใน 90 ส่วนหากจำเลยทั้งห้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน หากตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาทกันไม่ได้ให้เอาที่ดินพิพาทออกขายแล้วเอาเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ทั้งสามตามส่วน

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร